Bounce Rate คืออะไร ทำไมค่านี้ยิ่งต่ำถึงยิ่งดีต่อ SEO ดูเทคนิคการทำให้ Bounce Rate ต่ำลงที่นี่

Bounce Rate

ใครที่กำลังทำเว็บไซต์หรือทำ SEO อยู่ยกมือขึ้น! เพราะถ้าหากคุณเป็นเจ้าของเว็บไซต์ หรือสนใจในการพัฒนา SEO ของเว็บไซต์ บทความนี้เหมาะมากๆ ที่คุณจะต้องอ่าน เพราะนี่คือเรื่องของเมตริกสำคัญอีกหนึ่งตัว นั่นคือคำว่า “Bounce Rate” 

ฟังแค่ชื่อแบบนี้อาจจะยังนึกไม่ออกว่า ทำไมค่านี้ถึงได้สำคัญ แล้ว Bounce Rate ที่ Yenped กำลังจะพูดถึงนั้นมันคืออะไร และถ้าต้องการทำให้ค่านี้มีประสิทธิภาพจะมีเทคนิคอะไรที่ช่วยได้บ้าง มามะ ตามแมวส้มมาเลย เพราะเรามีคำตอบแบบละเอียดมาฝาก

Bounce Rate คืออะไร

Bounce Rate คือ เมตริกหนึ่งที่ใช้ในการวัดผลของผู้เข้าชมที่เข้ามาในเว็บไซต์เพียงหน้าเดียวแล้วออก โดยไม่ได้ทำการกดเข้าไปยังหน้าอื่นๆ เพิ่มเติม (The percentage of single-page sessions) ไม่ว่าจะอยู่นานหรืออยู่เพียงไม่กี่วินาที แต่ถ้าไม่มีการปฏิสัมพันธ์กับหน้าเพจอื่นๆ เลย ก็ทำให้ค่า Bounce Rate ของเว็บไซต์เพิ่มสูงขึ้นได้ และค่านี้ยังสัมพันธ์กับคุณภาพของเว็บไซต์ด้วยว่า เราทำเว็บไซต์ออกมาได้ดีพอให้คนอยากใช้งานต่อได้หรือไม่อีกด้วย

ที่มาภาพ: www.seobility.net

ยกตัวอย่างเช่น มีคนเข้ามาใช้งานเว็บไซต์ของคุณรวมแล้วประมาณ 10,000 คนต่อเดือน และมีคนที่เข้าใช้งานหน้าเดียวแล้วกดออกไปเลยอยู่ประมาณ 5,000 คน แสดงว่า มี Bounce Rate ของเว็บไซต์อยู่ที่ 50% ของผู้ใช้งานทั้งหมด ถ้าเห็นแบบนี้ก็ต้องคิดแล้วนะว่า ทำไมคนครึ่งหนึ่งถึงได้เข้ามาเว็บไซต์เพียงแค่หน้าเดียวแล้วกดออกไปเลย

ทำไม Bounce Rate ถึงสำคัญ

เนื่องจาก Bounce Rate ถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญในการวัดคุณภาพของเว็บไซต์ นักการตลาด คนทำคอนเทนต์ คนทำ SEO หรือคนทำเว็บไซต์มักใช้ Bounce Rate ในการวัดคุณภาพของหน้าเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีว่ามีผู้เข้าชมแล้วกดออกไปเลยหรือเปล่าโดยไม่คลิกไปต่อหน้าอื่น ถ้าหากค่า Bounce Rate มีมากแสดงว่าหน้าเว็บไซต์นั้นๆ อาจจะกำลังมีปัญหาอะไรบางอย่างอยู่ Bounce Rate จึงเป็นเหมือนค่าที่ใช้ตรวจสุขภาพของเว็บไซต์ได้อีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง

สาเหตุอะไรทำให้ Bounce Rate สูงขึ้นหรือต่ำลง

สำหรับ Factor ที่ทำให้ค่า Bounce Rate สูงขึ้นหรือต่ำลง จะขึ้นอยู่ที่ปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งมักสัมพันธ์กับ SEO Performance ของเว็บไซต์ด้วย เช่น 

  • ความเร็ว-ช้าของ Page Speed ถ้าเว็บไซต์โหลดช้ามากๆ ก็คงไม่มีใครอยากใช้งาน แน่นอนว่า เข้ามาแล้วก็จะกดออกไปเลยทันที
  • การออกแบบเว็บไซต์ยังไม่มีประสิทธิภาพก็จะทำให้ยอด Bounce Rate สูงขึ้น เช่น ออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์ซับซ้อน, คลิกอะไรก็หาไม่เจอ, ไม่มี Mobile Friendly Version เป็นต้น
  • คอนเทนต์และ Keyword ที่ทำไม่สัมพันธ์กัน เช่น Keyword มี Search Intent เรื่องหนึ่งแต่เขียนคอนเทนต์ออกมาไม่ตอบคำถามกับสิ่งที่คนค้นหาก็จะทำให้คนคลิกเข้ามาแล้วกดออกไป
  • ทำเว็บไซต์โดยไม่ได้คำนึงถึง Mobile Friendly ทำให้ไม่สามารถใช้งานในมือถือได้ดีเท่าที่ควร
  • ประเภทของเว็บไซต์แต่ละแบบจะมี Bounce Rate ที่สูง-ต่ำไม่เท่ากัน เช่น หน้าเว็บไซต์ที่มีการแสดงผลข้อมูลเรียงลำดับหลายหน้า เช่น บทความ โพสต์บล็อก ฯลฯ จะมี Bounce Rate ที่สูงกว่าหน้าเว็บไซต์ที่มีการแสดงผลข้อมูลเพียงหน้าเดียว เช่น หน้าสินค้าหรือบริการ
  • ปริมาณของเนื้อหา โดยเว็บไซต์ที่มีเนื้อหามากๆ บนหน้าเว็บไซต์เดียวกันจะมีโอกาส Bounce Rate ที่สูงกว่า
  • ผู้ใช้งานเว็บไซต์อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่สนใจจะอ่านเนื้อหา บางคนอาจจะมีวัตถุประสงค์เข้ามาแค่หาเบอร์โทรศัพท์ หรือข้อมูลบางอย่างแล้วออกไป
  • การทำโฆษณาที่เรียก Traffic เข้ามาจำนวนมากแต่หน้านั้นๆ ไม่ได้ช่วยทำให้เกิด Conversion ได้ก็อาจจะทำให้เกิด Bounce Rate สูงขึ้นด้วย

ค่า Bounce Rate ควรอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่

อย่างที่แมวส้มบอกไปแล้วว่าการที่เว็บไซต์จะมีค่า Bounce Rate ที่สูงขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย จึงอาจจะบอกตัวเลขตรงๆ ไม่ได้ว่า Bounce Rate ควรที่จะอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่กันแน่ แต่อาจจะอ้างอิงจาก Semrush ที่ทำการสรุปเอามาให้แล้วว่า เว็บไซต์แต่ละประเภทโดยเฉลี่ยแล้วจะมี Bounce Rate อยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ได้บ้าง

เทคนิคการทำให้ Bounce Rate ต่ำลงและดีต่อเว็บไซต์

อยากทำให้ Bounce Rate ต่ำลงและดีต่อเว็บไซต์ต้องทำยังไง ลองดูวิธีการที่แมวส้มรวบรวมมาให้แบบเน้นๆ ได้เลย ดังนี้

1. ปรับปรุงคุณภาพเนื้อหา

อันดับแรกเลยคือ การปรับปรุงการทำ On-Page ของเว็บไซต์ให้ดีขึ้น โดยอาจจะเริ่มจากการจัดการเนื้อหาบนหน้าเว็บไซต์แต่ละหน้าให้มีคุณภาพตามที่ Search Engine กำหนด เช่น

  • ปรับ Title TagMeta Description, Heading Tag ให้ดีต่อการทำ SEO 
  • ออกแบบเนื้อหาในเว็บไซต์ให้มีคุณภาพและตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย
  • ทำ Internal Link และ External Link ทั้งภายในและภายนอกเว็บไซต์
  • ใส่ ALT ให้กับรูปภาพ
  • ทำ URL Friendly โดยเขียนให้สั้นกระชับ และมีความหมายชัดเจน

และควรที่จะมีการทำ Keyword Research เพื่อหาคำที่เหมาะสมที่กลุ่มเป้าหมายของเว็บไซต์จะทำการค้นหา แล้วนำมาทำเป็น Keyword ในแต่ละหน้าเพจของเว็บไซต์ เพื่อให้คนสามารถเจอหน้าเว็บไซต์ที่คุณเขียนขึ้นมาได้ง่าย และมีโอกาสที่จะคลิกอ่านเนื้อหาในหน้าอื่นๆ ต่อไป เนื่องจากเว็บไซต์ออกแบบขึ้นมาตาม Search Intent ของคนจริงๆ

2. ออกแบบเว็บไซต์ให้ใช้งานได้ง่าย

เว็บไซต์ที่ใช้งานยากก็อาจทำให้ผู้ใช้งานไม่สนใจที่จะทำการคลิกไปต่อยังหน้าเว็บไซต์อื่นๆ ได้ ดังนั้น คุณควรพิจารณาการปรับปรุงการออกแบบเว็บไซต์ เพื่อให้มีการใช้งานและการเข้าถึงข้อมูลที่สะดวกสบาย โดยสิ่งที่คุณต้องทำเลยก็คือ การวางโครงสร้างเว็บไซต์ หรือ Site Structure ให้ใช้งานได้ง่ายและไม่ซับซ้อน ดังนี้

  • จัด Category Page ให้เป็นระเบียบ
  • เชื่อมต่อหน้าเพจที่เกี่ยวข้องกันด้วย Internal link
  • จัดเลเวลของหน้าต่างๆ ไม่ให้เกิน 3-5 Level คือ คลิกไม่เกิน 3-5 ชั้นในการเข้าไปยังหน้าด้านในสุด
  • ทำให้เว็บไซต์รองรับการใช้งานได้ครบทุกอุปกรณ์

3. ลดเวลาโหลดหน้าเว็บไซต์ 

หากเว็บไซต์ของคุณโหลดช้า ผู้ใช้งานอาจไม่สนใจที่จะรอเว็บไซต์โหลดจนเสร็จ ดังนั้น การลดเวลาโหลดหน้าเว็บไซต์จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเยี่ยมชมหน้าเว็บไซต์อื่นๆ ได้มากขึ้น ซึ่งวิธีการปรับให้เว็บไซต์โหลดไวขึ้นจะมีอยู่ด้วยกันหลายส่วน เช่น

  • บีบอัดขนาดรูปภาพด้วยการเปลี่ยนสกุลของไฟล์ภาพจาก Jpeg หรือ Png เป็น Webp หรือ AVIF ที่เบากว่า
  • ใช้ไฟล์ภาพที่ใหญ่ไม่เกิน 300 KB ในส่วนรูปที่ไม่สำคัญ
  • ใช้รูปภาพขนาดจริงเท่ากับที่แสดงบนหน้าเว็บไซต์ ไม่ทำไฟล์ที่ใหญ่กว่าเพราะจะทำให้โหลดรูปช้า
  • ฝังฟอนต์ลงบนเว็บตรงๆ หรือใช้ Google Fonts
  • ติดตั้ง Lazy Load ให้กับเว็บไซต์
  • ทำ Caching เพื่อลดภาระของเซิร์ฟเวอร์

4. ปรับปรุง UX/UI ของเว็บไซต์

การปรับปรุง UX/UI ของเว็บไซต์จะช่วยให้ผู้ใช้งานมีประสบการณ์ที่ดีกับเว็บไซต์ ดังนี้

  • ออกแบบการใช้สีบนเว็บไซต์ให้เหมาะสม โดยอาจจะยึดตาม CI หรือ Corporate Identity ของแบรนด์
  • มีลำดับเนื้อหาควรง่าย น่าสนใจ เป็นขั้นตอนโดยที่ไม่ต้องเลื่อนหาไปมา 
  • เป็นเนื้อหาที่มีความเฉพาะตัว (Unique Content) ไม่ได้ทำการคัดลอกจากคนอื่นมา
  • Menu Bar และ Navigator ต้องเรียบง่าย เข้าใจง่าย ไม่ทำให้สับสน โดยการใช้ไอคอนอย่างถูกต้อง
  • Block Card และ Section ต่างๆ ควรดีไซน์มาให้เหมาะสมกับการใช้งานในทุกอุปกรณ์ 
  • ทำปุ่มต่างๆ ให้กดง่าย มีขนาดพอดีไม่ทำให้เกิดการกดพลาด
  • ขนาดตัวอักษรต้องทำมาให้พอดีไม่เล็กจนเกินไป หรือถ้ากลุ่มเป้าหมายอายุเยอะควรออกแบบมาให้มีขนาดที่ผู้สูงอายุอ่านได้แบบสบายตา

สรุป

Bounce Rate เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของเว็บไซต์ก็จริงอยู่ แต่ก็ไม่ควรใช้ Bounce Rate เพียงค่าเดียวในการประเมินค่าคุณภาพของเว็บไซต์ แนะนำให้พิจารณาจากปัจจัยหลายๆ ปัจจัย และเน้นไปที่การปรับปรุงคุณภาพเนื้อหา การออกแบบเว็บไซต์ การลดเวลาโหลดหน้าเว็บไซต์ ความสะดวกสบายในการใช้งาน และการปรับปรุง UX/UI ให้มากขึ้น

หากคุณทำสิ่งเหล่านี้ได้ดีก็จะช่วยให้ Bounce Rate ของเว็บไซต์ของคุณต่ำลงและดีต่อ SEO ของคุณได้อย่างแน่นอนเลยล่ะ

แต่ถ้าหากว่าใครกำลังมองหาบริษัทรับทำ SEO อยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง แนะนำให้ปรึกษาได้เลยครับ ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย